ศาลจะเรียกหลักทรัพย์ตามความร้ายแรงของข้อหาที่โจทก์ได้ฟ้องมา ท่านสามารถสอบถามวงเงินที่ต้องใช้ในการประกันตัวได้ที่งานประชาสัมพันธ์ของศาล แต่ในบางคดีที่ความเสียหายมีมูลค่าสูงมากๆ ทนายเคยเจอศาลบางแห่งเรียกหลักประกันสูงถึง 1 ใน 3 ของความเสียหายที่โจทก์ฟ้องมาเลยก็มีเหมือนกัน เงินประกันนี้เมื่อเสร็จคดีนายประกันก็สามารถขอคืนได้
นอกจากเงินสดที่สามารถนำมาวางประกันตัวได้ ผู้ประกันสามารถใช้ตำแหน่งข้าราชการ พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน โฉนดที่ดิน หรือสามารถซื้อประกันอิสรภาพได้ ซึ่งที่ศาลจะมีตัวแทนของบริษัทประกัน ท่านสามารถซื้อประกันกับตัวแทนได้ โดยบริษัทประกันจะคิดค่าดำเนินการประมาณ 12% ของวงเงินประกันที่ศาลเรียก แต่เงินตรงนี้ท่านจะไม่ได้คืน ซึ่งก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป
โดยทั่วไปคดีที่มีอัตราโทษไม่สูงจำเลยสามารถยื่นประกันตัวเองได้โดยไม่ต้องมีทนายความ เพราะจะมีเจ้าหน้าที่ศาลช่วยอำนวยความสะดวก ช่วยยื่นประกันให้ หากจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนีมาก่อนโดยมากศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทุกคน แต่สำหรับคดีที่มีอัตราโทษสูงโดยประสบการณ์ของผมเห็นว่าท่านควรจะมีทนายความช่วยในการประกันตัว โดยทนายความจะยื่นคำร้องประกอบการขอประกันตัวเข้าไปด้วย เพราะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยศาลจะไม่ทราบ จำเลยจะต้องแถลงข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์กับตนเองเข้าไปด้วยเพื่อให้ศาลเห็นว่าหากได้รับการประกันตัวไปจำะเลยจะไม่หลบหนี โอกาสที่ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวย่อมมีสูง
นายประกันสามารถดำเนินการได้ 2 อย่างคือ 1 ยื่นคำร้องอุทธร์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ 2. ยื่นประกันตัวเข้าไปใหม่
ถึงแม้ว่ากฎหมายมิได้จำกัดว่าจะสามารถยื่นประกันได้กี่ครั้ง แต่ในความเป็นจริงการที่ต้องยื่นประกันหลายครั้ง ย่อมไม่เป็นผลดีกับจำเลยอย่างแน่นอน และโอกาสที่จะได้รับการประกันตัวก็มีน้อยลง ท่านควรหาทนายความที่มีประสบการณ์ช่วยยื่นประกันตัวให้